Carbon Credit เทรนด์สิ่งแวดล้อมที่ไม่ใหม่ แต่น่าจับตามอง

สภาวะโลกร้อนยังคงรุนแรงต่อเนื่อง อุณหภูมิที่สูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกหดตัวต่ำสุดในประวัติการณ์ รวมถึงมลภาวะหลากหลายรูปแบบที่เราต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน ปัจจัยที่รุนแรงส่วนหนึ่งมาจากปริมาณ “คาร์บอน” มลพิษจากระบบอุตสาหกรรมฝีมือมนุษย์ เป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิด “ก๊าซเรือนกระจก”  ตัวร้ายเอกของภาวะโลกร้อน

 

สหประชาชาติได้พยายามแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยประกาศข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกของสหประชาชาติ (United National Framework Convention on Climate Change, UNCCC) ซึ่งได้มีการเจรจากันครั้งแรกที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนธันวาคม 1997 ซึ่งเรียกกันว่า พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ขึ้นเพื่อกำหนดกลไกต่างๆ ให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน หนึ่งในกลไกคือ การซื้อขายมลพิษ หรือ “คาร์บอนเครดิต” กับประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถลดก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกลงตามที่กำหนดไว้ได้ โดยประเทศไทย

กล่าวคือ “คาร์บอนเครดิต” คือจำนวนคาร์บอนที่หนึ่งบริษัทสามารถปล่อยออกสู่อากาศต่อปี  โดยมีจำนวนจำกัด และโดนบังคับ ให้น้อยลงทุกที  หากปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์ก็สามารถนำส่วนต่าง (คาร์บอนเครดิต) ไปขายให้กับบริษัทอื่นได้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็น การนำไปปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินงานไปรายงาน การนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตผลิตภัณฑ์ ต่างๆ

ความเป็นมาของคาร์บอนเครดิตในไทย

  • ปี 2545 ไทยเข้าร่วมให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต ในสนธิสัญญาการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งจะไม่ถูกบังคับให้มีพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • ปี 2550 ไทยจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. (TGO) ขึ้น มีวัตถุประสงค์หลักในการวิเคราะห์ กลั่นกรอง และทำความเห็นเกี่ยวกับการให้คำรับรองโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด รวมทั้งติดตามประเมินผลโครงการที่ได้รับคำรับรอง ส่งเสริมการพัฒนาโครงการ และตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) ที่ได้รับการรับรอง
  • ปี 2559 ไทยเข้าร่วมให้สัตยาบันในความตกลงปารีส โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งตั้งเป้าหมายควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และได้กำหนดเป้าหมายที่สูงขึ้นไว้ควบคู่กันว่า จะพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้น้อยลงไปอีกจนถึงต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
  • ปี 2564 ไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) โดยไทยมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2608 โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

มูลค่าคาร์บอนเครดิตในตลาดไทย / ตลาดโลก

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้โครงการ T-VER ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิตมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2559 มีมูลค่าการซื้อขายเพียง 846,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 128,489,980 บาท ในปี พ.ศ. 2565 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 151 เท่า ในช่วงที่ผ่านมา โดยราคาคาร์บอนเฉลี่ยต่อตัน มีราคาเฉลี่ยสูงสุดประมาณ 149.97 บาทต่อตัน (พ.ศ. 2559) ทั้งนี้ ราคาเฉลี่ยต่อตันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2561-2565) โดยล่าสุดราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 36.78 บาทต่อตัน

เมื่อพิจารณาราคาคาร์บอนเครดิตของต่างประเทศ พบว่าราคาคาร์บอนเครดิตของต่างประเทศมีราคาสูงกว่าราคาคาร์บอนเครดิตของไทยมาก ตัวอย่างเช่น ระบบ EU ETS ของสหภาพยุโรปมีราคาอยู่ที่ 90.03 ยูโรต่อตัน (ประมาณ 3,266.92 บาทต่อตัน) เป็นต้น แม้ว่าปัจจุบันราคาคาร์บอนเครดิตของไทยจะต่ำกว่าราคาคาร์บอนเครดิตของต่างประเทศ แต่ในอนาคตคาดว่าราคาคาร์บอนเครดิตของไทยมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากกรมสรรพสามิตเริ่มศึกษาแนวทางในการจัดเก็บภาษีคาร์บอน และคาดว่าจะเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2566 นี้

*ข้อมูล ณ วันที่ 20 มีนาคม 2566

เราจะหาคาร์บอนเครดิตได้จากที่ไหน ?

คาร์บอนเครดิตนั้นจะถูกสร้างขึ้นโดยกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ อย่างเช่น การปลูกต้นไม้ ซึ่งจะนำไปคำนวณคาร์บอนเครดิตโดยการวัดความสูง เส้นรอบวง และพันธุ์ของต้นไม้ เพื่อนำไปคำนวณคุณสมบัติในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก และแปลงออกมาเป็นเครดิตนั่นเอง

การคำนวณนั้นจะถูกดำเนินการโดยองค์กรเฉพาะทางของแต่ละประเทศ สำหรับไทยจะเป็นหน้าที่ของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นผู้รับเรื่องในการคำนวณ โดยการสร้างคาร์บอนเครดิตเพื่อขายนั้น ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็นธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเท่านั้น แต่ใครก็สามารถทำได้ แม้แต่กิจกรรม CSR ปลูกต้นไม้ก็สามารถนำไปคำนวณเครดิตเพื่อขึ้นทะเบียนขายได้เช่นกัน สามารถเข้าไปดูรายละเอียดโครงการได้ ที่นี่

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย / ซื้อขายกันที่ไหน / ซื้อขายกันอย่างไร

1) การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือ ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นศูนย์กลางหรือเครือข่ายใด ๆ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อซื้อขายคาร์บอนเครดิตอย่างเป็นทางการโดยการจับคู่หรือหาผู้ซื้อและผู้ขายคาร์บอนเครดิตหรือการจัดระบบหรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ประสงค์จะซื้อขายคาร์บอนเครดิตสามารถทำความตกลงหรือจับคู่สัญญากันได้ โดยมีผู้ให้บริการในไทยแล้วคือ

  • บริษัท ReAcc (รีแอค) จำกัด หนึ่งในบริษัทในเครือของ PTT ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Platform ซื้อ-ขายพลังงานหมุนเวียนผ่านระบบ Blockchain ซึ่งรวมไปถึงการรับซื้อ คาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปขายต่อให้กับองค์กร หรือหน่วยงานที่ต้องการเช่นกัน
  • แพลตฟอร์ม FTIX 

2) การซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) เป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายคาร์บอนเครดิตโดยตรงโดยไม่ผ่านตลาด โดยมีผู้ให้บริการในไทยแล้วคือ

  • โครงการ T-VER โดยบุคคลหรือนิติบุคคลที่สามารถขายคาร์บอนเครดิต TVERs ได้ คือ
    • ผู้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER)
    • กรณีที่ไม่ได้เป็นผู้พัฒนาโครงการ จะต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกของตลาด Exchange Platform ก่อนในฐานะของนายหน้าหรือผู้ค้าคือผู้ที่สามารถรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากตลาดแรก (Primary Market) เพื่อนำไปขายต่อให้กับผู้ซื้อที่เปิดบัญชีในตลาดรอง (Secondary Market) โดยมีลักษณะการทำงานคล้ายกับ Broker ของตลาดหุ้น

อนาคตของคาร์บอนเครดิต โอกาสการเติบโต-ต่อยอดธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม

ความต้องการคาร์บอนเครดิตในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากกระแสความตื่นตัวและความมุ่งมั่นทั้งในระดับประเทศและระดับองค์กรที่มีการตั้งเป้าหมายที่จะเป็น Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions สำหรับความต้องการคาร์บอนเครดิตภายในประเทศ TGO ได้รวบรวมข้อมูลจากรายงานประจำปีขององค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปี 2020 (ที่เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) พบว่า มีองค์กร จำนวน 81 องค์กร มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 162,793,317 tCO2e/y  จากผลการวิเคราะห์ สะท้อนให้เห็นว่า หากองค์กรต้องการที่จะเป็น Carbon Neutral Organization จะมีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตชดเชยรวม 1,562,815,839 tCO2e และ 3,150,050,676  tCO2e ในช่วงปี 2020-2030 และ 2020-2050 ตามลำดับ 

 

ขณะที่ความต้องการคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยในภาคบริการ พบว่ามีความต้องการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดงานอีเว้นท์ ประมาณ 950,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และในภาคบริการท่องเที่ยวมีความต้องการ 1,031 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี 

 

สรุปผลการคาดการณ์ความต้องการคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมชดเชยคาร์บอนประเภทต่างๆ พบว่าจะมีความต้องการคาร์บอนเครดิตรวม ประมาณ 182-197 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือมีความต้องการรวมถึงปี ค.ศ. 2030 ที่ 1,823-1,973 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

สะท้อนให้เห็นว่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิตมีแนวโน้มที่จะได้รับความสำคัญมากขึ้นในอนาคต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั่วโลก สำหรับประเทศไทยนั้น การพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิต โดยเฉพาะ SME ยังต้องการการสนับสนุนด้านนโยบาย เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจในวงกว้างเห็นความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น อันจะนำไปสู่การพัฒนาตลาดกลางเพื่อซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ในอนาคต

http://carbonmarket.tgo.or.th/ https://www.mreport.co.th/experts/business-and-management/325-Carbon-Credit-Thailand https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2640661

คาร์บอนเครดิต คืออะไร?
https://www.bangkokbanksme.com/en/6sme3-carbon-credit https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Carbon-Credit-FB-11-10-2022.aspxhttps://blog.pttexpresso.com/what-is-carbon-credit/ https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Carbon-Credit-FB-03-12-21.aspx